
Over Head
(บนยอดไม้)
เหนือจากพื้นดินในป่าชายเลน พบสัตว์ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะนกหลายชนิด ส่วนใหญ่จะใช้ต้นไม้ป่าชายเลนเป็นที่สร้างรัง ในขณะที่อีกหลายชนิดใช้เพื่อเป็นแหล่งอาหาร นกที่พบเห็นบ่อยในป่าชายเลน จังหวัดตราด เช่น นกยาง โดยเฉพาะนกยางกรอก นกกระเต็น โดยเฉพาะนกกระเต็นอกขาว นกพญาปากกว้างท้องแดง และเหยี่ยวแดง เป็นต้น สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบในระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นประจำก็คือ ลิงแสม นั่นเอง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ หิ่งห้อย แมลงที่ส่องแสงสว่างไสวยามค่ำคืน เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับป่าชายเลน
นกยางกรอก
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Pond Heron
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardeola
นกยางกรอกมี 3 สายพันธุ์คือ พันธุ์ชวา พันธุ์จีน และพันธุ์อินเดีย กินพวกปลาและสัตว์ตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ มักพบอยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ชอบยืนนิ่ง ๆ ในน้ำเพื่อรอจิกกินปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก บางครั้งเดินย่องไปในน้ำ จิกกินเหยื่อแล้วกลืนกินทั้งตัว
ลักษณะรัง ทำรังโดยใช้กิ่งไม้วางซ้อนกันอย่างง่าย ๆ ตามง่ามไม้ รังเป็นรูปกระจาด ตรงกลางเป็นแอ่งตื้น ๆ รองรังด้วยหญ้าและใบไม้สด นกยางกรอกชวา เป็นนกประจำถิ่นของไทย ส่วนนกยางกรอกจีน และนกยางกรอกอินเดียเป็นนกอพยพ
เมื่อพวกมันกางปีกบินอยู่บนฟ้าจะเห็นท้องสีขาว แต่เมื่อร่อนลงบนพื้นอาจมองไม่เห็น เพราะถ้ามันหุบปีกและคอ ลวดลายสีน้ำตาลบริเวณคอ ปีก และหลังจะกลืนไปกับพงหญ้า
นอกฤดูผสมพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จะมีชุดขนที่ดูคล้ายกันจนแม้แต่นักดูนกก็แยกไม่ออก แต่ถ้าหน้าร้อนซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ จะมีชุดขนที่ต่างกัน เรียกกันว่า “ชุดแต่งงาน” นกยางกรอกชวา จะมีชุดแต่งงานที่หัวและคอเป็นสีน้ำตาลอ่อน (อาจเข้มจางต่างกันไป) อกสีเข้มกว่าคอ หลังสีดำปนเทา ขาบางตัวอาจมีสีแดงเข้มขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมน นกยางกรอกจีน มีชุดแต่งงานซึ่งหัวและคอเป็นสีน้ำตาลแดง อกสีน้ำตาลเข้ม หลังสีดำปนเทา ส่วนนกยางกรอกอินเดีย จะมีชุดแต่งงานที่หัวและคอจะเป็นสีเนื้ออมเทา หรือสีเหลืองนวล หลังสีเทาแกมเขียว หรือสีน้ำตาลอมแดง ในบางตัวพันธุ์ชวาและพันธุ์อินเดียสีคล้ายกันมาก แต่นกยางกรอกอินเดีย เป็นสายพันธุ์ที่หายากมากในประเทศไทย แทบไม่พบเลย


นกกระเต็นอกขาว
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : White – throated kingfisher
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Halcyon smyrnensis
นกกระเต็นอกขาว มีสีสันสวยงาม สีสันนี้ไม่ได้มีเพียงเพื่อดึงดูดคู่ในช่วงผสมพันธุ์ แต่ใช้สื่อสารระหว่างนกด้วยกัน เช่น การแสดงอาณาเขต
ลักษณะทั่วไป มีขนาด 27 – 29 เซนติเมตร ปากแหลมสีแดงสด หัว หน้า และท้ายทอยมีสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านบน ขนคลุมไหล่ด้านบนสีน้ำตาล ขนคลุมปีกสีฟ้าเข้ม หลัง ตะโพก และหางสีฟ้าเข้ม ลำตัวด้านล่าง คาง คอ และอกสีขาว ท้องสีน้ำตาลเข้ม แข้งและเท้าสีแดง ขณะบินมองเห็นแถบสีขาวที่ปลายปีก
เป็นนกที่พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย พบนกชนิดนี้ครั้งแรกที่ประเทศตุรกี กระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่น มักอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 4 – 10 ตัว อาศัยใกล้แหล่งน้ำทั่วไป แต่ในฤดูร้อนอาจพบอยู่ห่างจากแหล่งน้ำก็ได้ อยู่ตามป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ จนถึงทุ่งนาและสวนผลไม้
ทำรังตามโพรงไม้ จอมปลวก หรือเนินดิน โดยใช้ปากและเล็บขุดดินให้เป็นโพรง วางไข่ครั้งละ 2 – 7 ฟอง อาหารของพวกมันคือ แมลง กบ เขียด ปลาขนาดเล็ก บางครั้งจับแมลงในอากาศกิน เหยื่อที่มีขนาดใหญ่จะถูกสะบัดและฟาดกับกิ่งไม้ แล้วจึงกลืนกิน พวกมันเป็นนักล่าที่อดทน สามารถอยู่ในท่ารอเหยื่อได้นานหลายชั่วโมงโดยไม่ขยับตัว พฤติกรรมนี้ช่วยให้จับเหยื่อได้โดยไม่ถูกสังเกต ฉลาดรู้จักเลือกสถานที่ที่มีเหยื่อมาก เมื่ออยู่บนพื้นดินจะเคลื่อนที่ด้วยการกระโดด ส่งเสียงร้องสั่นรัวและแหลมสูง
ขณะบินคล้ายเหยี่ยว ในหลายวัฒนธรรม นกกระเต็น ถือเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีและความสำเร็จ พวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ง่าย เช่น อาศัยอยู่ใกล้ชุมชนที่ติดกับป่าชายเลน

นกพญาปากกว้างท้องแดง
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Black and Red Broadbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbirhynchus macrorhynchos
เป็น 1 ใน นกพญาปากกว้าง 7 ชนิด ที่พบในประเทศไทย จัดเป็นนกเกาะคอนโบราณที่กล้ามเนื้อในกล่องเสียงไม่เจริญมากนัก มีกล้ามเนื้อที่ช่วยสร้างเสียงไม่กี่มัด จึงมีเสียงร้องที่ไม่ค่อยไพเราะ
อาศัยอยู่ในป่าดิบและในป่าชายเลน ปากที่กว้างและหนาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทำให้นกชนิดนี้สามารถจับเหยื่อได้หลากหลาย กินแมลง ผีเสื้อ หอยทาก ปู และปลา เป็นอาหาร แม้จะมีรูปร่างที่ดูอ้วนป้อม แต่พวกมันเป็นนักบินที่ว่องไว สามารถจับเหยื่อกลางอากาศได้อย่างแม่นยำ
การบินมักบินเป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างกิ่งไม้และพุ่มไม้ ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันสดใสเหมือนกัน ที่สำคัญม่านตาของนกชนิดนี้มีสีฟ้า นับเป็นนกป่าที่มีสีสวยเตะตานักดูนก มันมีนิสัยเชื่องช้า เกาะนานและนิ่งเป็นนาที จึงมีเวลาที่นักดูนกจะส่องชมได้ง่าย
นกชนิดนี้ชอบทำรังใกล้แหล่งน้ำเหนือลำธารในป่า รังเป็นรูปไข่ สร้างจากหญ้าแห้ง ใบไม้ กิ่งไม้แห้งสานกันแน่นหนา บางรังเป็นใบไม้ที่ดูเหมือนเศษขยะ ซึ่งช่วยให้รอดพ้นจากการล่ารังของศัตรู กลยุทธ์ในการสร้างรังคือ จะสร้างรัง 2 รัง ไว้ใกล้ ๆ กัน รังหนึ่งไว้หลอกสัตว์นักล่าว่ารังไหนเป็นรังจริงหรือรังหลอก และยังเป็นเสมือนทางเลือก ถ้ารังไหนถูกลมพัดตกลงพื้น ก็ยังมีรังที่ 2 ไว้สำรอง เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป
ลักษณะทั่วไป มีขนาด 21 – 24 เซนติเมตร ปากหนา สั้น ปากบนสีฟ้า ปากล่างสีเหลือง หัวและท้ายทอยสีดำ ลำตัวด้านบนมีขนคลุมหลัง ไหล่และปีกสีดำ มีแถบสีขาวตรงกลางปีก ตะโพกสีแดง หางสีดำ ลำตัวด้านล่าง สีแดงเข้ม มีแถบสีดำพาดจากอก เชื่อมต่อกับหลังคอ แข้งและเท้าสีเทาเข้ม นกวัยอ่อนจะมีปากสีเทาเข้ม ขนปกคลุมลำตัวสีน้ำตาล ขนคลุมปีกด้านบนมีแถบสีขาว
เหยี่ยวแดง
ชื่อสา มัญภาษาอังกฤษ : Brahminy kite
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Haliastur indus
เป็นนกล่าเหยื่อขนาดกลาง มีขนาดประมาณ 44 – 52 เซนติเมตร ปากหนาสั้น ปลายปากงุ้ม หัว คอ และอกสีขาว มีขีดสีดำกระจาย ลำตัวด้านบนมีขนคลุมหลังและปีกสีน้ำตาลแดง ตะโพกและหางสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่าง ท้อง และก้นสีน้ำตาลแดง แข้งและเท้าสีเหลือง ขณะบินมองเห็นขนกลางปีกและปลายปีกสีน้ำตาลอ่อน ขนปีกสีดำ นกวัยอ่อนมีขนปกคลุมลำตัวสีน้ำตาล ขณะบินมองเห็นแถบสีขาวที่ช่วงกลางขนปลายปีก ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน
พบได้ในหลายพื้นที่ กินสัตว์ตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร มันมีความสามารถสูงในการปรับตัวหาอาหาร กินได้ทั้งปลา ซากสัตว์ สัตว์น้ำขนาดเล็ก แม้กระทั่งเศษอาหารจากมนุษย์ บางครั้งก็ขโมยอาหารจากนกตัวอื่นที่จับมาได้แล้ว เมื่อพบเหยื่อ มันจะบินเป็นวงกลม พร้อมกับบินโฉบอาหารนั้นขึ้นไปกินบนต้นไม้
เหยี่ยวแดงมีความสามารถในการบินที่โดดเด่นมาก สามารถร่อนลมได้อย่างสง่างามและควบคุมการบินได้ดีในพื้นที่ที่มีลมแรง เช่น บริเวณชายฝั่งหรือป่าชายเลน การร่อนลมช่วยลดการใช้พลังงานในระหว่างการค้นหาอาหาร ซึ่งช่วยให้มันมองเห็นเหยื่อได้ง่ายขึ้นจากมุมสูง อาศัยใกล้แหล่งน้ำ
เหยี่ยวแดงมีลักษณะคู่สมรสเดียว และมักสร้างรังร่วมกันบนต้นไม้สูงในพื้นที่ที่ปลอดภัย ในบางพื้นที่เชื่อว่า เหยี่ยวแดงเป็นสัญลักษณ์ของพลัง ความสง่างาม และเป็นสัตว์นำโชค
บทบาทสำคัญในป่าชายเลนคือ ช่วยควบคุมประชากรสัตว์เล็ก เช่น ปลาและหนู รวมถึงช่วยกำจัดซากสัตว์ที่ตายแล้ว พฤติกรรมเช่นนี้จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ


ลิงแสม
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Crab - eating macaque
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca fascicularis
พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นลิงขนาดกลางในประเทศไทย พบอยู่ทั่วไปตามป่าชายเลนและริมฝั่งทะเล แตกต่างจากลิงชนิดอื่นตรงที่มีหางยาวเท่ากับความยาวของหัวและลําตัว กระโดดไปมาระหว่างกิ่งไม้ที่อยู่ห่างกัน 5 เมตร โดยใช้หางในการทรงตัว ออกหากินตอนกลางวัน ชอบกินปู ปลา หอย แมลง และพืชผักผลไม้ต่าง ๆ เป็นอาหาร อาศัยอยู่บนต้นไม้มากกว่าพื้นดิน ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง ดำน้ำลึกได้ถึง 50 เมตร ขณะดำน้ำจะลืมตาจับเหยื่อ ช่วงใกล้เที่ยงจะหยุดพักผ่อน ตัวผู้มีเขี้ยวยาวแหลมกว่าตัวเมียมาก มันมีถุงกระพุ้งแก้มที่ใช้เก็บอาหารขณะหากิน เวลานอนจะหลับบนต้นไม้ โดยมีต้นไม้ที่ใช้นอนประจำกลุ่ม จะนอนเบียดกันเพื่อรักษาความอบอุ่น ชอบเลือกนอนปลายกิ่งที่อยู่ใกล้ยอดและอยู่คร่อมแม่น้ำ ซึ่งอาจเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะหากมีอันตรายมาใกล้ตัว ก็กระโจนลงแม่น้ำแล้วว่ายน้ำหนีได้ง่าย ลิงแสมใช้พื้นที่หากินประมาณ 1.25 ตารางกิโลเมตร แต่ละวันเดินทางหากิน 150 - 1,900 เมตร พวกมันมีอายุได้มากที่สุดถึง 38 ปี ในบางพื้นที่อาศัยอยู่ใกล้ชุมชนผู้คน ก็จะกินพืชผลของมนุษย์ รวมถึงขอหรือขโมยของกินจากชาวบ้าน การที่เป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดมนุษย์ก็อาจนำโรคติดต่อมาสู่คนได้ มันมีความฉลาดในหลายด้าน เช่น การใช้เครื่องมืออย่างง่าย โดยใช้หินทุบเปลือกหอยหรือเมล็ดเพื่อนำมาเป็นอาหาร สื่อสารกันผ่านเสียง ท่าทาง และการแสดงออกทางสีหน้า พฤติกรรม “กรูมมิ่ง” หรือการดูแลขนจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ในฝูง ลิงแสมเป็นตัวแทนของความฉลาดและการปรับตัวในธรรมชาติ สามารถนำมาฝึกได้ นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้ในงานวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ สมอง และระบบประสาท เนื่องจากมันมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ในเชิงพันธุกรรม
หิ่งห้อย
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Firefly
ชื่อวิทยาศาสตร์ : (ป่าชายเลนพบได้ 2 ชนิด): Pteroptyx valida Olivier และ Pteroptyx malaccae
ในป่าชายเลน พบได้ 2 ชนิด เป็นแมลงปีกแข็ง ตัวเต็มวัยมักเกาะอยู่ตามต้นลำพู ลำแพน และต้นไม้อื่น ๆ ในป่าชายเลน ชาวบ้านมักเรียกต้นไม้ที่มีหิ่งห้อยเกาะว่า “โกงกางหิ่งห้อย” หิ่งห้อยตัวเมียมักเกาะตามกิ่งไม้ แต่ตัวผู้มักจะบินไปมาตามพุ่มไม้
ตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีก ส่วนเพศเมียมีทั้งมีปีกและไม่มีปีก บางชนิดมีปีกสั้นมาก ตัวที่ไม่มีปีกจะคล้ายตัวหนอน หนอนหิ่งห้อยเป็นตัวห้ำ ดำรงชีวิตเป็นผู้ล่า โดยกินหอยฝาเดียว ไส้เดือนดิน กิ้งกือ หอยทาก และแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร โดยใช้เขี้ยวปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกายเหยื่อเพื่อให้เป็นอัมพาต แล้วปล่อยน้ำย่อยใส่เหยื่อเพื่อกินต่อ
ลักษณะเด่นที่เห็นกันมากก็คือ มันสามารถส่องแสงได้ทั้งระยะที่เป็นหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ส่วนระยะไข่ส่องแสงได้เฉพาะบางชนิดเท่านั้น หิ่งห้อยกะพริบแสงเพื่อการเลือกคู่ ผสมพันธุ์ และสื่อสารกัน ส่วนใหญ่จะมีอวัยวะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1 – 3 ปล้อง บางชนิดมีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว แสงที่ผลิตออกมา อาจเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อน หิ่งห้อยบางชนิดที่พบทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาปล่อยแสงออกสีฟ้า
