
Rain and Sea (ฝนและน้ำ)
ป่าชายเลน เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างแผ่นดินและทะเล ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างมาก น้ำถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ในป่าชายเลน
น้ำฝน
ปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝน และระยะเวลาที่ฝนตก มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน โดยเฉพาะความหลากหลายของพรรณไม้ โครงสร้างหมู่ไม้ การกระจาย การเจริญเติบโต และการออกดอกออกผล “ฝน” มีอิทธิพลต่ออุณหภูมิของอากาศ อุณหภูมิของน้ำ และความเค็มของน้ำ รวมไปถึงความเค็มของน้ำในดิน
โดยปกติแล้วพรรณไม้ป่าชายเลนสามารถขึ้นและเจริญเติบโตได้ดี เมื่อพื้นที่ชายฝั่งมีปริมาณฝนตกประมาณ 1,500 - 3,000 มิลลิเมตรต่อปี แต่ก็สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีฝนตกถึง 4,000 มิลลิเมตรต่อปี ในพื้นที่แห้งแล้งมีปริมาณน้ำฝนน้อย ป่าชายเลนจะมีโครงสร้างซับซ้อนน้อยกว่าในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนมาก หมู่ไม้จะมีความหนาแน่นสูง แต่จะมีลักษณะเตี้ย และจำนวนชนิดพันธุ์ไม้น้อย
น้ำฝนช่วยลดความเค็มของน้ำในป่าชายเลน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวต่อความเค็ม เช่น พืชและสัตว์น้ำกร่อย สามารถดำรงชีวิตได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ดินเลนและพืชในป่าชายเลน ช่วยชะล้างเกลือที่สะสมอยู่ในดินเลน และรักษาสมดุลระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มในพื้นที่


ทะเล
คลื่นและกระแสน้ำ มีความสำคัญในแง่การกัดเซาะดินชายฝั่ง ทำให้เกิดการตกตะกอนบริเวณชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมาขึ้น ทำให้เกิดป่าชายเลนในพื้นที่ใหม่ ๆ และช่วยพัดพาฝักหรือเมล็ดของพรรณไม้ไปสู่แหล่ งต่าง ๆ เพื่อขยายพันธุ์และเจริญเติบโตต่อไป และพัดพาเอาธาตุอาหารจากป่าชายเลนออกสู่ชายฝั่งและทะเล เป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำ และการเพาะเลี้ยงชายฝั่งอย่างมาก
![[Artistly Design] 01961a8a-b157-72ae-84cc-6bebfa6f19ea.png](https://static.wixstatic.com/media/40a2d5_bcbb3440cd6d4be3b63c645fa2d074d0~mv2.png/v1/fill/w_980,h_482,al_c,q_90,usm_0.66_1.00_0.01,enc_avif,quality_auto/40a2d5_bcbb3440cd6d4be3b63c645fa2d074d0~mv2.png)
ความเค็มของน้ำ
และความเค็มของน้ำใน ดิน
ความเค็มของน้ำ และความเค็มของน้ำในดิน มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโต การรอดตาย และกระจายตัวของพรรณไม้ในป่าชายเลน มีความสำคัญต่อการขึ้นอยู่ของชนิดพันธุ์ไม้ และการอยู่อาศัยของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ ในป่าชายเลนที่ความเค็มของน้ำต่างกัน จะมีการขึ้นอยู่ของชนิดพันธุ์ไม้และชนิดของสัตว์ต่างกัน โดยปกติป่าชายเลนสามารถขึ้นและเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณน้ำกร่อย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเค็มของดินและน้ำระหว่าง 10 - 30 เปอร์เซ็นต์
การขึ้น – ลง ของน้ำ
น้ำขึ้น - น้ำลง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการกำหนดเขตการขึ้นของพันธุ์ไม้หรือสัตว์ในป่าชายเลน ช่วงเวลาน้ำขึ้น - น้ำลง จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มในบริเวณป่าชายเลน ในขณะที่น้ำทะเลขึ้น ค่าปริมาณความเค็มของน้ำห่างจากชายฝั่งหรือตลอดจนแม่น้ำจะสูงขึ้นด้วย เมื่อน้ำทะเลลดลง ค่าปริมาณความเค็มของน้ำก็จะลดต่ำลง
นอกจากนี้ ความเค็มของน้ำยังขึ้นอยู่กับช่วงเวลา “น้ำเกิด – น้ำตาย” อีกด้วย ในช่วง “น้ำเกิด” หรือ “น้ำเป็น” (Spring tides / เป็นช่วงวันที่มีน้ำขึ้นสูงมากและลงต่ำมาก) ความเค็มของน้ำจะสูงขึ้น และความเค็มของน้ำจะลดลงเมื่อน้ำทะเลอยู่ในช่วง “น้ำตาย” (Neap tides / เป็นช่วงวันที่มีน้ำขึ้นสูงไม่มากและน้ำลงไม่มาก)
ในบางพื้นที่จะมีน้ำขึ้น - น้ำลง 2 ครั้งในเวลา 1 วัน แต่บางพื้นที่ในรอบหนึ่งวันจะมีน้ำขึ้น 1 ครั้ง และ น้ำลง 1 ครั้ง และบางพื้นที่ก็จะมีน้ำขึ้น - น้ำลง 2 ครั้งในเวลา 1 วัน แต่ระดับน้ำในแต่ละวันจะมีขนาดไม่เท่ากัน ระดับความสูงของน้ำขึ้น - น้ำลงในแต่ละวันจะมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป
การเปลี่ยนแปลงของระดับความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุดหรือน้ำลงต่ำสุดในรอบหนึ่ง จะมีระยะเวลาประมาณ 30 วัน ตามจันทรคติ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากแรงดึงดูดระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ในช่วงดวงจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ จะเป็นช่วงที่มีความแตกต่างระหว่างระดับน้ำขึ้น - น้ำลงแตกต่างกันมาก ซึ่งก็คือ “น้ำเกิด” ส่วนวันที่เห็นดวงจันทร์ครึ่งดวง ในช่วงขึ้น 8 ค่ำ และแรม 8 ค่ำ เป็นช่วงที่มีความแตกต่างระหว่างระดับน้ำขึ้น - น้ำลงน้อย ซึ่งก็คือ “น้ำตาย”
ปัญหาหลักที่พืชและสัตว์บริเวณน้ำขึ้นน้ำลงประสบ คือ ปริมาณเกลือในน้ำหรือดิน เนื่องจากในขณะที่น้ำลง น้ำจะไหลออกจากพื้นที่ป่าชายเลน แต่ยังคงมีน้ำบางส่วนค้างอยู่ตามที่ต่าง ๆ น้ำที่ตกค้างอยู่นี้จะค่อย ๆ ระเหยอย่างช้า ๆ และเหลือผลึกเกลือไว้
ผลึกเกลือเหล่านี้สามารถทำให้ความเค็มของน้ำในระบบนิเวศป่าชายเลนสูงกว่าความเค็มของน้ำทะเลบริเวณด้านนอกพื้นที่ป่าชายเลนถึง 3 เท่า และเมื่อน้ำไหลเข้ามาในป่าชายเลนอีกครั้งในช่วงที่น้ำขึ้น ผลึกเกลือที่ตกค้างอยู่ก็จะละลายน้ำอีกครั้ง อาจเกิดปัญหาต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน แต่ถ้าหาก “น้ำฝน” และ “น้ำทะเล” มีปริมาณที่พอเหมาะ ก็จะเป็นการร่วมกันสร้าง “สภาพน้ำกร่อย” การไหลเข้าของน้ำจืดจากฝนและน้ำเค็มจากทะเล นับว่าเป็นการช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชายเลน
