top of page
picture-swamp-with-reflection-trees-water.jpg

Animal on Earth (สัตว์น้อยในป่า)

ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อประชากรสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งผสมพันธุ์และอนุบาลตัวอ่อน และเป็นที่หลบภัยของสัตว์นานาชนิด

สัตว์ในป่าชายเลน

สัตว์ที่อาศัยอยู่หน้าดิน, ในดิน, ในเนื้อไม้ และในน้ำ ในป่าชายเลนได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู หอย ปลาตีน ปลาชนิดต่าง ๆ แมงกะพรุน แมงดา ไส้เดือนทะเล เพรียง หนอนทะเล งูทะเล ไอโซพอด เป็นต้น

สัตว์บกและสัตว์เลื้อยคลาน ในป่าชายเลน

ได้แก่ แมลงและแมงต่างๆ เช่น แมงมุม ผีเสื้อ ตัวต่อ ผึ้ง มด หิ่งห้อย กิ้งก่า ตุ๊กแก ตะกวด เหี้ย งู เต่าทะเล เป็นต้น

สัตว์ที่โดดเด่น หรือพบเห็นเป็นประจำ
ในป่าชายเลน จ.ตราด

ปลาตีน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Mudskipper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Periophthalmodon

เป็นปลาที่สามารถเดินบนดินเลนได้ด้วยครีบพิเศษใต้อก ใช้ยึดเกาะรากไม้

มีการเคลื่อนที่หลายวิธีนอกเหนือจากการว่ายน้ำ เช่น การพยุงตัวในการจับอาหาร และการแฉลบ ใช้ในการหนีผู้ล่า จะสะบัดหางเพื่อช่วยในการกระโดด ปีน และไต่ไปบนเลน ทำให้เกิดรอยทิ้งไว้ เกิดเป็นลวดลายที่สวยงามบนดินเลน

 

ปลาตีนมีการหายใจทางเหงือกโดยจะฮุบอากาศผ่านน้ำ เก็บไว้ในช่องเหงือกด้านใน มีเส้นเลือดฝอยจำนวนมากเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊ส และสามารถหายใจผ่านผิวหนังได้

 

ปลาตีนกินทั้งพืชและสัตว์ แต่มีบางกลุ่มกินเฉพาะพืช บางกลุ่มกินเฉพาะสัตว์

 

ปลาตีนจะขุดรูไว้เป็นที่หลบภัย และวางไข่สืบพันธุ์

หากมีศัตรูก็จะกางครีบหลังเพื่อเป็นการข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม

 

และอีกหนึ่งความสามารถพิเศษของปลาตีนคือ

การเปลี่ยนสีลำตัว และปรับอุณหภูมิร่างตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

กุ้งดีดขัน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Snapping shrimps
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpheus sp.

เมื่อนำกุ้งชนิดนี้มาใส่ไว้ในขัน แล้วใช้ก้านไม้เล็ก ๆ แหย่บริเวณก้ามหนีบ กุ้งจะใช้ก้ามหนีบเข้าหากันทำให้เกิดเป็นเสียง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "กุ้งดีดขัน"

 

บางพื้นที่เรียกว่า "กุ้งกระเต๊าะ" หรือ "กุ้งยิง" กุ้งดีดขันสามารถงับก้ามทำให้เกิดเสียงดัง "ป๊อก ป๊อก" ซึ่งเป็นอาการที่ทำเพื่อข่มขวัญศัตรู หรือล่าเหยื่อ

การใช้ก้ามงับกันสามารถสร้างแรงดันน้ำได้ประมาณ 80 กิโลปาสคาล ในรัศมี 4 เซ็นติเมตร ซึ่งมีความรุนแรงพอที่จะทำให้ปลาตัวเล็กๆ ช็อคตายได้

 

เสียงงับก้ามของกุ้งดีดขันมีความดังถึง 218 เดซิเบล/ไมโครปาสคาล/เมตร

(เสียงของน้ำตกไนแองการ่าดัง 90 เดซิเบล เสียงในโรงงานอุตสาหกรรมดัง 80 เดซิเบล เสียงพูดคุยปกติดัง 30เดซิเบล)

 

กุ้งดีดขันจะกินอินทรีย์สารและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในรูและคอยดักจับเหยื่อ

 

ในประเทศไทยนำมาเลี้ยงเป็นกุ้งสวยงาม มันถูกนำมาทำเป็นเมนูอาหารของมนุษย์ และเป็นเหยื่อตกปลา

กุ้งดีดขัน01.jpg
2560px-Telescopium_telescopium_01.jpeg

หอยขี้ค้อน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Mud creeper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terebralia palustris

หอยขี้ค้อน หรือ "หอยหลักควาย" เรียกอีกชื่อว่า "หอยมรกต"

เพราะเนื้อด้านในมีสีเขียวมรกต มีเปลือกค่อนข้างหนา และแข็ง มีลวดลายหยักที่ช่วยในการเจาะดินหรือไม้

 

ชื่อ "ขี้ค้อน" มาจากลักษณะของรูที่หอยชนิดนี้เจาะไว้ในดินหรือไม้ คล้ายกับรอยที่ถูก "ค้อน" ตอกหรือทุบ นอกจากนี้คำว่า "ขี้" ในภาษาท้องถิ่นอาจหมายถึง ร่องรอยหรือคราบ ที่หลงเหลือไว้จากการเจาะหรือขุดรู หอยขี้ค้อนขุดรูเพื่อหลบซ่อนและหาอาหาร ส่วนใหญ่กินอินทรีย์สารที่อยู่ในดิน

 

กินสาหร่ายเซลล์เดียว และของเน่าเปื่อย การขุดรูนี้ช่วยให้น้ำและอากาศไหลผ่านดินเลนได้ดีขึ้น

 

และมันคือ สุดยอดวัตถุดิบในทะเล นำมาทำเป็นเมนูอาหารรสเลิศ และการที่ถูกนำมาประกอบอาหารในเมนูต่างๆ หอยขี้ค้อนจึงมีจำนวนลดลงไปมาก

ปูก้ามดาบ

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Fiddler crab
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uca vocans

เป็นปูทะเลขนาดเล็ก มีสีสันสวยงาม ปูตัวเมียมีก้ามทั้ง 2 ข้างเล็กเท่ากัน แต่ปูตัวผู้จะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่มาก ใช้ก้ามข้างที่ใหญ่โบกไปมา จึงเป็นที่มาของชื่อ "ปูก้ามดาบ"

ก้ามใหญ่ที่โบกไปมา ใช้เป็นอาวุธเพื่อข่มขู่ศัตรูหรือผู้บุกรุกที่เข้ามาในอาณาเขตของมัน และเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย

 

ทางภาคใต้เรียกว่า "ปูโนรา" เวลาลงรูจะใช้ก้ามข้างที่เล็กกว่าลงก่อน ซึ่งก้ามข้างที่ใหญ่เมื่อขาดไป ข้างที่เล็กกว่าจะใหญ่ขึ้นมาแทน ส่วนข้างที่เคยใหญ่อาจงอกมาเป็นเล็กกว่าหรือสลับกันไปก็ได้

ปูก้ามดาบออกหากินเมื่อน้ำลง มันมีนาฬิกาชีวภาพที่สามารถรู้เวลาน้ำขึ้นน้ำลงได้ ปูก้ามดาบจะเข้าออกจากรูก่อนน้ำขึ้นน้ำลง ช้าหรือเร็วกว่าประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง

 

บางท้องถิ่นเรียกว่า "ปูเปี้ยว" ว่ากันว่าหากจับมากินจะมีรสเปรี้ยว มันกินซากพืชซากสัตว์ และสาหร่ายขนาดเล็กเป็นอาหาร มีความสามารถพิเศษในการคัดเลือกกินเฉพาะจุลชีพและสารอินทรีย์ที่แยกออกจากดินทรายได้ ตะกอนดินที่ไม่กินก็จะคายทิ้งไว้เป็นก้อนดินกลม ๆ

3237px-Uca_sp.,_fiddler_crab_-_Tarutao_National_Marine_Park_(16491810210).jpg
242.jpg

ปูแสม

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Meder หรือ Mangrove crab
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sesarma mederi

ปูแสมหรือ "ปูเค็ม" ในธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยถอยลงมาก เพราะมนุษย์มักจะจับมาดองเค็ม ใส่ในเมนูส้มตำ หรือทำเป็นปูหลน ยำปูเค็ม และเมนูอื่น ๆ อีกมาก

 

โดยทั่วไปมันจะขุดรูอยู่ แต่บางครั้งก็อาศัยรูร้างของปูทะเล รูของปูแสม จะช่วยให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนระหว่างดินกับอากาศเกิดขึ้นได้ดี ซึ่งมีผลต่อกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์

 

มันมักออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบอยู่ในรู ในช่วงข้างขึ้นหรือข้างแรม 1 –2 ค่ำ ปูจะออกมามากหลังน้ำขึ้นปริ่มรูปู

 

พวกมันชอบกินซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้ว รวมถึงใบไม้สด และดินทรายตามพื้น

 

เป็นส่วนสําคัญของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศป่าชายเลน สร้างรายได้ให้กับชาวประมงที่จับปูแสมเพื่อนำมาจำหน่าย

สัตว์ในป่าชายเลนมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ในสภาพแวดล้อมที่มีความเค็มของน้ำ

มีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ และพื้นที่โคลนที่มีออกซิเจนต่ำ

ตัวอย่างของการปรับตัว เช่น

การปรับตัวทางกายภาพ

  • รูปร่างและโครงสร้าง :  สัตว์บางชนิดมีขาที่ยาวและแข็งแรงเพื่อเดินบนโคลนหรือรากไม้ เช่น นกปากห่าง และปูก้ามดาบ

  • ระบบหายใจ :  สัตว์บางชนิดมีระบบหายใจพิเศษเพื่อรับออกซิเจนจากน้ำหรือโคลน เช่น ปลาตีนที่สามารถหายใจผ่านผิวหนังได้ และปูที่สามารถเก็บน้ำไว้ในเหงือกเพื่อหายใจบนบกได้

การปรับตัวทางพฤติกรรม

  • การหาอาหาร :  สัตว์หลายชนิดปรับพฤติกรรมการหาอาหารตามระดับน้ำขึ้นน้ำลง เช่น ปูและหอยที่หาอาหารในช่วงน้ำลง

  • การสร้างที่อยู่อาศัย :  สัตว์บางชนิดสร้างโพรงหรือรังเพื่อหลบภัยและวางไข่ เช่น ปูและปลาบางชนิด

การปรับตัวทางสรีรวิทยา

  • การทนต่อความเค็ม :  สัตว์ในป่าชายเลนสามารถทนต่อความเค็มได้สูง เช่น ปลาบางชนิดที่สามารถปรับสมดุลของเกลือในร่างกายได้

  • การขับเกลือ :  สัตว์บางชนิดมีกลไกขับเกลือออกจากร่างกาย เช่น ปูที่ขับเกลือผ่านทางเหงือก

การปรับตัวเพื่อการสืบพันธุ์

  • การวางไข่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  สัตว์หลายชนิดวางไข่ในบริเวณที่ปลอดภัยจากน้ำขึ้นน้ำลง เช่น ปลาบางชนิดวางไข่ในโพรงหรือรากไม้

  • การดูแลลูกอ่อน :  สัตว์บางชนิดดูแลลูกอ่อนจนกว่าพวกมันจะสามารถอยู่รอดได้เอง เช่น ปูบางชนิด

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๑ (ตราด)

เลขที่ ๖ หมู่ที่ ๑,๖ ตำบลแหลมงอบ

อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

bottom of page